Children's art.

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การสร้างภาพ โทนสีร้อน-สีเย็น


การสร้างภาพโทนสีร้อน-สีเย็น

         สี (Color)  คือลักษณะของแสงสว่างที่ปรากฏแก่ตา ให้เห็นเป็น แดง ดำ เขียว เหลือง ฯลฯ การที่ตาจะมองเห็นวัตถุเป็นสีใดก็ต่อเมื่อแสงจากวัตถุนั้นสะท้อนมาเข้าตา ซึ่งอาจจะเป็นแสงที่เปล่งออกมาเอง หรือแสงจากที่อื่นมากระทบวัตถุแสงสะท้อนสีก็ได้ ถ้าเราให้แสงส่องผ่านแท่งแก้วสามเหลื่ยมแล้วนำฉากมารับ จะปรากฏเป็นสีขึ้นมา 7 สี เรียกว่าสเปคครับ (Spectrum) คือ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีทั้งเจ็ด บางทีตาอาจเห็นได้ชัดเจนเพียง 5 สีคือ สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง และสีแดง


        ทฤษฏีของสี (Theory of color)  หลังจากที่ เซอร์ ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ค้นพบสีในแสงสว่างแล้วได้เกิดทฤษฏีสีขึ้นมาโดยที่นักเคมีและนักศิลปะตกลงกันในเรื่องลักษณะแท่งการเกิดสี 2 ลักษณะ คือ การทำขึ้นเป็นสีต่างๆ กับการผสมกันระหว่างสี เพื่อให้เกิดอีกสีหนึ่ง ศิลปินได้มีการใช้สีต่างๆ และมีการค้นคว้าการใช้สีในทางศิลปะไว้มาก จนเกิดเป็นทฤษฏีสีอีกหลายทฤษฏี แต่ที่นิยมกันมากมี 2 ทฤษฏีของแปรงหรือระบบของแปรง (Prang System) และทฤษฏีหรือระบบของมัลเชล (Munsell System) ทฤษฏีทั่งสองมีส่วนคล้ายคลึงกัน และนำมาปฏิบัติได้ผลดีเป็นอย่างมากระบบสีของแปรง (Prang System)กำหนดแม่สีไว้ 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน แม่สีทั้งสามสามารถผสมเป็นสีอื่นได้อีกมากมาย เมื่อนำเอาแม่สีทั้งสามผสมกันในอัตราหรือปริมาณที่เท่ากัน จะเกิดเป็น สีกลาง (Neutral Color) ขึ้น สีกลางดังกล่าวถ้านำไปผสมกับสีอื่นๆ จะเกิดเป็นสีแก่หรือสีเข้มขึ้นได้เช่นเดียวกับการนำสีขาวไปผสมกับสีอื่นๆ ก็จะเกิดเป็นสีที่อ่อนจางลง มีผู้ทดลองใช้สีเพียง 3 สี เขียนภาพ ก็ปรากฏว่าได้ผล โดยการผสมสีเป็นสีกลางไว้ก่อน เมื่อต้องการจะระบายส่วนที่เป็นเงาก็ใช้สีกลางนั้นผสมกันสีแต่ละสีที่ต้องการได้ตามระบบของแปรงนี้ ทำให้เกิดการสร้างวงล้อสีธรรมชาติขึ้น (Color wheel) ด้วยการแบ่งวงกลมเป็นแฉกๆ คือ 6 แฉก 12 แฉก และ 24 แฉก แต่ละแฉกในวงกลมก็เป็นสีที่เกิดจากการผสมกันระหว่างแม่สีระบบของมัลเซลล์ (Munsell System)กำหนดแม่สีไว้ 5 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว และสีม่วง เมื่อนำสีทั้ง ห้า มาผสมกันเข้าจะได้สีกลาง (Neutral color) คุณสมบัติของสีตามระบบของทฤษฏีสีสากลนั้น กำหนดไว้ 3 ประการ(1) สีแท้ (Hue)(2) คุณค่าของสี (Value)(3) ความเข้มของสี (Intensity)สีแท้ (Hue)เป็นมิติแรกของสีและเป็นชื่อของสีต่างๆ เช่น แดง น้ำเงิน เขียว หรือสีทุกชนิดที่ไม่ได้ผสมกับสีอื่นเลย ถ้าเราเอาสีแท้สองสีผสมกัน ก็จะเกิดเป็นสีใหม่ขึ้น เช่น แดงผสมกับน้ำเงิน จะได้เป็นสีม่วง สีน้ำเงินผสมกับสีเขียว ได้เป็นสีน้ำเงินเขียว ซึ่งถ้าเราเข้าใจในเรื่องการผสมสีเป็นอย่างดี จะสามารถผสมสีได้อย่างสวยงาม การผสมดังกล่าวจะได้สีเป็นขั้นต่างๆ เป็นอันดับขั้นของสี (Classes of Color) แบ่งเป็น 5 ขั้นคือ  
1. สีขั้นต้นหรือแม่สี (Primary Color)(1) 
       สีน้ำเงินแก่ (Prussian blue) หรือ blue 
       สีแดงชาด (Crimson Lake) หรือ red 
       สีเหลือง (Camboge Tint) หรือ Yellow 
2. สีขั้นที่สอง (Hinary of Secondary Color) เป็นสีที่เกิดจากการผสมกันของสีขั้นต้น คือ 
       ส้ม (Orange) ได้จาก แดง เหลือง
       เขียว (Green) ได้จากน้ำเงิน เหลือง
       ม่วง (Violet) ได้จาก น้ำเงิน แดง
3. สีขั้นที่สาม (Intermediate Color) เป็นสีที่เกิดจากการผสมกันของสีขั้นที่สองกับสีขั้นต้นที่อยู่ใกล้กัน คือ
       เหลืองแกมเขียว (เหลือง + เขียว)
       เหลืองแกมส้ม (เหลือง + ส้ม)
       แดงแกมส้ม (แดง + ส้ม)
       แดงแกมม่วง (แดง + ม่วง)
       น้ำเงินแกมม่วง (น้ำเงิน + ม่วง)
       น้ำเงินแกมเขียว (น้ำเงิน + เขียว

การสร้างภาพโทนสีร้อน-สีเย็น ของเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 5 ขวบนั้น เมื่อผลงานออกมาแล้วไม่คิดว่าเด็กๆ จะทำได้สมบูรณ์การไล่โทนสีทำได้ 7 ระยะสำหรับเด็กเล็กๆ แต่ต้องมีตัวอย่างประกอบให้ดูสักหน่อย หรือจัดเรียงสีชอล์กตามตัวอย่างสี

                                                                
ตัวอย่าง สี โทนร้อน-โทนเย็น จะแบ่งออกเป็น 7 ระยะ เริ่มที่สีร้อนได้แก่ เหลือง ส้มเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง แดงม่วง ม่วง สีเย็นได้แก่ เหลือง เขียวอ่อน เขียวสด เขียวแก่ ฟ้าเข้ม น้ำเงิน ม่วง
 เมื่อเราระบายสีภาพตามโทนสีแล้ว เราสามารถรู้สึกได้ถึงความแตกต่างได้เลย ภาพที่ระบายสีเย็นจะมีความรู้สึกสบาย   ร่มเย็น สบายตา สบายใจ มีสมาธิมากขึ้น แล้วโทนสีนี้เราก็นำมาจากสีของธรรมชาติที่อยู่รอบตัวของเรานี่เอง กลุ่มโทนสีเขียวก็นำมาจากป่า ส่วนกลุ่มโทนสีฟ้าก็นำมาจากทะเลเมื่อนำ 2 กลุ่มโทนมารวมกันโดยการไล่สีก็เป็นอย่างที่เราเห็นล่ะคะ...รู้สึกดีใช่ไหมคะ




ส่วนภาพที่ระบายสีร้อนจะมีความรู้สึกสดใส ร้อนแรง มีชีวิตชีวา อบอุ่นก็ได้ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วโทนสีนี้เราก็นำมาจากสีของธรรมชาติที่อยู่รอบตัวของเรานี่เองเหมือนกัน กลุ่มโทนสีแดงก็นำมาจากดวงอาทิตย์ที่เป็นแสงของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เวลานำมาระบายอยู่ด้วยกันสีค่อนข้างร้อนแรงเอามากๆ


น้องใหม่ อายุ 5 ขวบ
น้องเมย์ อายุ 5 ขวบ




แต่เราสามารถสร้างภาพให้ดูเด่นและชัดเจนได้ โดยการระบายสีโทนร้อน-โทนเย็นแบ่งระหว่างรูปภาพกับพื้นหลังของภาพอย่าลืมตัดเส้นดำนะคะ ดังตัวอย่างของเด็กๆ ที่นำมาโชว์


วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร....

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร.....เหมือนหัวข้อคำขวัญวันเด็กเลยนะคะ แต่บรรดาเด็กๆ ยิ้มกันเป็นแถวเพราะว่าไม่อยาก แต่พอลงมือวาดเท่านั้นล่ะค่ะ..คุณครูขา หนูโตขึ้นหนูอยากเป็นคุณครู แต่หนูวาดไม่ได้ค่ะ


เราต้องสร้างแรงบันดาลใจ โดยการพูดโน้มน้าวพร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เด็กๆ คิดตามหรืออธิบายแบบรวมๆ อาจจะวาดให้ดูบ้างก็ได้นะคะ แต่มีอีกหลายวิธีโดยให้หาภาพมาเป็นตัวอย่างเช่น ทาง Internet หรือจากหนังสือ เพราะเป็นการวาดเรื่องราวแบบจินตนาการ

ครั้งนี้ให้วาดลงบนจานกระดาษขนาดใหญ่  แขวนไว้ข้างผนัง โดยการเจาะรู 2 รูด้วยตาไก่ แล้วแขวนด้วยเชือกสี และจานกระดาษก็ไม่เล็กจนเกินไป แต่จะให้ใช้สีไม้ระบาย แล้วเน้นการระบายสีแบบแน่นๆ สีจะได้สดใส สุดท้ายตัดเส้นด้วยปากกาสีดำ



บรรยากาศในการสร้างสรรค์ผลงานของกลุ่มเด็กๆ จะมีสมาธิและตั้งใจมากโดยเฉพาะ ครึ่งชั่วโมงแรกค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ จะมีสมาธิประมาณ 45 นาที ในการสร้างผลงาน 




ผลงานเสร็จแล้ว....แต่ละคนจะมีผลงานเป็นของตัวเอง..โดยเฉพาะถ้าต้องการให้เด็กๆ มีความมั่นใจและกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้นควรจะนำผลงานของแต่ละคนขึ้นแสดงไว้ที่บอร์ดแสดงนะคะ รับรองได้เห็นรอยยิ้มกลับบ้านแน่นอนค่ะ


วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อารมณ์บนใบหน้า


หัวข้อ..อารมณ์บนใบหน้า เป็นการวาดภาพแสดงความรู้สึกบนใบหน้า โดยผ่านการใช้เส้นโดยแสดงออกผ่านทางตา คิ้ว ปากและเส้นผม ส่วนใหญ่จะใช้ทางเส้นปากกา กับหนังสือการ์ตูนทั่วๆ ไป


สำหรับการวาดรูปและลงสีจะใช้สีไม้ผลงานก็จะดูสะอาดค่ะ แต่ถ้าจะลงสีชอล์กสีจะสดใสมากกว่า ดังนั้นเวลาตัดเส้นใบหน้าอยากให้ใช้ดินสอดำ หรือดินสอ EE มากกว่า ซึ่งจะเห็นรายละเอียดของเส้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น


สำหรับความรู้ในเรื่องของเส้น จุด และลักษณะของเส้น โดยมีภาพมาประกอบให้ดูในแต่ละอารมณ์แต่ละใบหน้า อยู่ในช่วงท้ายของเรื่องนี้ค่ะ อาจจะพอเป็นแนวทางในการวาดของแต่ละอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้น




จุด  เป็นต้นกำเนิดของเส้น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา พื้นผิว ฯลฯ  เช่น  นำจุดมาวางเรียงต่อกันจะเกิดเป็น         เส้น  และการนำจุดมาวางให้เหมาะสม  ก็จะเกิดเป็นรูปร่าง รูปทรง และลักษณะผิวได้   
เส้น (Line)  หมายถึง  การนำจุดหลาย ๆ จุดมาเรียงต่อกันไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นทางยาว  หรือสิ่งที่เกิดจากการขูด ขีด เขียน ลาก  ให้เกิดเป็นริ้วรอย



ลักษณะของเส้น
1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง ให้ความรู้สึกทางความสูง สง่า มั่นคง แข็งแรง หนักแน่น เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อตรง 
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย 
3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง 
4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็น จังหวะ มีระเบียบ ไม่ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง 
5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล 
6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่ หมุนวนออกมา ถ้ามองเข้าไปจะเห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด
7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทาง ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง 
8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง ขาด หาย ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด



เส้นกับความรู้สึกที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง  ไม่ใช่ความรู้สึกตายตัว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ร่วมกับส่วนประกอบอื่น ๆ  เช่น  เส้นโค้งคว่ำลง  ถ้านำไปเขียนเป็นภาพปากในใบหน้าการ์ตูนรูปคน  ก็จะให้ความรู้สึกเศร้า  ผิดหวัง  เสียใจ  แต่ถ้าเป็นเส้นโค้งหงายขึ้น  ก็จะให้ความรู้สึก  อารมณ์ดี  เป็นต้น

ภาพการ์ตูนหมื่นตากับการตั้งโจทย์ของอารมณ์ [คัดลอกลิงค์]






วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การปั้นนูนต่ำ 2 มิติ



ผลงานวันนี้ี เป็นการปั้นต่อจากครั้งที่แล้วค่ะ  เมื่อครั้งที่แล้วเป็นการปั้นนุนต่ำแต่ทำเป็นแบบเม็ด เม็ด แล้วติดกาวติดลงบนพื้นกระดาษสี แต่ครั้งนี้ก็คล้ายๆกัน เพียงแต่เราจะไม่ทำแบบเม็ดๆ 


แต่เราจะทำแบบเรียบๆ แบนๆ หรือเรียกว่าปั้น แบบ 2 มิติ แล้วมันคืออะไร? 

งานปั้น หมายถึง
         การนำเอาวัสดุอ่อนที่สามารถรวมกันได้  หรือแบ่งแยกออกจากันได้  เช่น  ดินเหนียว  ดินน้ำมัน  ขี้ผึ้ง มาตกแต่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ  โดยใช้วิธีขยำ  บีบ  นวด  ตัด  ขัด  ขูด  ปะ  เป็นต้น
ประเภทของงานปั้น งานปั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. งานปั้นแบบนุนตํ่า เป็นรูปปั้นที่มีแผ่นหลังรองรับ และภาพจะนูนสูงขึ้นมาจากพื้นเพียงเล็กน้อย มองเห็นด้านหน้าได้เพียงด้านเดียว เช่น เหรียญต่างๆ พระเครื่องที่มีลักษณะเป็นเหรียญ เป็นต้น



2. งานปั้นแบบนูนสูง  เป็นรูปปั้นที่มีแผ่นหลังรองรับ คล้ายรูปปั้นนูนต่ำ แต่ภาพจะนูนสูงขึ้นมาจากพื้นรองรับมากกว่า และมีการลดหลั่นตามความเหมาะสม เช่นรูปประดับฝาผนัง



3. งานปั้นแบบลอยตัว  เป็นรูปปั้นที่สามารถมองเห็นได้ทุกด้านโดยรอบ  มีลักษณะเป็นภาพ  3  มิติ  ส่วนมากมักจะมีฐานเพื่อสามารถวางตั้งกับพื้นได้  เช่น  รูปปั้นอนุสาวรีย์ต่าง  รูปปั้นเครื่องใช้ต่าง ๆ  เป็นต้น 







การปั้นงานแบบ 2 มิติ ก็คือ การปั้นนูนต่ำค่ะ ต่ำมากๆ สูงเหนือพื้นเพียงเล็กน้อย เราสามารถมองเห็นได้เฉพาะด้านบน เห็นความกว้าง ความยาวได้ชัด ส่วนด้านข้างเห็นได้น้อย แต่เราต้องใช้กาวลาเทกซ์ทาด้านหลังด้วยนะคะ แล้วค่อยติดลงบนการะดาษโปสเตอร์สีชนิดแข็ง  เวลานำดินน้ำมันติดลงบนกระดาษ เราควรร่างภาพเบาๆ บางๆ เป็นแบบก่อนแล้วก็นวดดินน้ำมันให้นิ่ม แบ่งดินทีละน้อยแล้วบี้ลงบนกระดาษให้อยู่ในขอบเขตที่เราร่างดินสอไว้นะคะ ส่วนพื้นหลังเป็นสีของกระดาษอยู่แล้ว ก็เป็นอันเสร็จวิธีการปั้นดินน้ำมันนูนต่ำแบบง่ายๆสำหรับเด็กเล็กๆ อายูประมาณ 4-7 ขวบ




วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปั้นนูนต่ำแบบ เม็ด เม็ด

วันนี้เรามาดูเด็กๆ ปั้นๆ กันเถอะค่ะ สมัยก่อนชอบถ่ายรูปมาก เวลาที่สอนก็อดไม่ได้ที่จะบันทึกภาพเอาไว้พอมาถึงวันนี้ก็เลยมีประโยชน์ตรงนี้ล่ะค่ะ เรามาดูภาพนะว่ามันไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ....
ปั้นดินน้ำมันนูนต่ำสำหรับเด็กเล็กๆ จะทำอย่างไรให้งานเสร็จทันเวลา 1.30 ชั่วโมง โดยที่เด็กไม่เบื่อซะก่อน ก็ต้องมาคิดว่าเด็กอายุ 4-5 ขวบนั้นสามารถสร้างงานนูนต่ำได้ 


อย่างแรกเราเลือกที่จะใช้ดินน้ำมันเพราะมีหลากหลายสีสันมาก  เราต้องเข้าใจนะคะเด็กต้องฝึกเรื่องกล้ามมือมัดใหญ่ฝึกการขยำดินน้ำมันให้นานๆ ดินน้ำมันจะนิ่ม เราจะปั้นดินให้เป็นก้อนเล็กๆ หรือเม็ดเล็กๆแล้วแปะลงบนกระดาษกดให้แบนลงนิดหน่อยให้อยู่ในรูปร่างของภาพ เพราะฉะนั้นภาพก็ไม่ควรจะเล็กมากนัก ก่อนจะติดดินนั้นควรจะทากาวลาเท็กซ์ลงบนกระดาษเสียก่อนให้หมาดๆ แล้วค่อยติดดินน้ำมันนะคะ



ส่วนพื้นกระดาษให้ใช้กระดาษแข็งโปสเตอร์สี ตัดตามขนาดที่ต้องการ จะเลือกสีพื้นสีอะไรก็ได้  แต่เวลาใช้สีดินน้ำมันก็ไม่ควรใช้สีเดียวกันเพราะจะดูกลืนกันเลย พยายามเลือกสีที่ต่างกันนะคะ การเลือกสีดินน้ำมันมาปั้นไม่ต้องเหมือนจริงก็ได้ค่ะ





ผลงานไม่ต้องให้มีรายละเอียดมากนัก กว่าจะปั้นเสร็จกลัวจะเบื่อซะก่อน ให้เด็กๆ  ปั้นเม็ดดินน้ำมันเหมือนปั้นเม็ดขนมบัวลอยปั้นไว้จำนวนมากๆ เข้าไว้ เวลานำมาเรียงแปะลงบนกระดาษ เด็กๆ เค้าจะสนุกมากและจะมีสมาธิมากในช่วงเวลานั้นๆ อย่าลืมทากาวรอให้แห้งหมาดๆ สักนิดค่อยติดดินนะคะ


เมื่องานเสร็จแล้ว นำผลงานไปตากแดดสัก 5 นาที ในช่วงเวลาแดดจัด จะช่วยทำให้ดินน้ำมันเกิดความเงาขึ้นมาและจะทำให้ผลงานสดขึ้นด้วย กาวก็จะแห้งเร็วขึ้นด้วยค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาพบาติกของหนู



ภาพบาติกของหนูๆ เด็กทำสนุก ผู้ใหญ่ก็ทำได้ค่ะ... แต่ไม่ใช่ภาพบาติกที่ทำกับผ้าจริงๆนะคะเป็นการสร้างงานสไตล์ใกล้เคียงถ้ามองดูโดยภาพรวมค่ะ


ขั้นตอนการทำไม่ยากเลยค่ะ สีที่ใช้คือ สีชอล์กนี่ล่ะค่ะกับสีน้ำ  ประการแรกก็วาดภาพอย่าให้มีลายละเอียดมากเกินไปหรือเล็กเกินไป ให้ระบายสีชอล์กส่วนที่เป็นภาพนะคะ ส่วนพื้นหลังภาพเก็บเอาไว้ระบายสีน้ำ การระบายสีชอล์กจะให้ดูสดใสก็ระบายสีแบบไล่โทนสีน้ำหนักอ่อน แก่ ระบายทุกสีตามที่ต้องการ


เมื่อระบายสีชอล์กเสร็จแล้วถึงขั้นตอนตัดเส้นเราอาจจะตัดสีเหมือนจริงหรือสีดำก่อนให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ใช้สีชอล์กที่เป็นสีขาวระบายล้อมรอบภาพภาพอีกครั้ง หรือจะตัดเส้นบางส่วนให้เป็นสีขาว พยายามกดสีหน่อยนะเพื่อให้สีขาวทึบแสงมากๆ หลังจากนั้นก็ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆ จุ่มสีน้ำระบายได้เลยค่ะ พยายามผสมสีใส่ภาชนะไว้มากๆหน่อย จะได้มีสีที่ผสมแล้วไม่หมด ระหว่างระบายสีภาพนั้นๆ


การใช้พู่กันระบายสีโดยทำสีให้ซึมเข้าหากัน พยายามอย่าระบายทำทับกันบ่อยหรือหลายๆครั้ง มันจะทำให้ภาพดูไม่นุ่มและกระด้าง เวลาแห้งจะดูตกกระหรือสีแห้ง ดังนั้นเมื่อมองภาพโดยรวมแล้วจะเหมือนงานผ้าบาติก


น้องโฟร์โมส อายุ 5 ขวบค่ะ... ผมน้องโน๊ต และหนูน้องแน็ต อายุ 7 ขวบค่ะ
(เจ้าของผลงาน)